หม้อดิน : เป็นภาชนะที่คนไทยใช้หุงต้มมาเป็นเวลานานแล้ว นับตั้งแต่ครั้งบรรพชนจนถึงปัจจุบัน หลังจากที่มีผู้ผลิตหม้อหุงข้าวที่ทำด้วยโลหะออกขาย หม้อดินจึงหมดความนิยมลง ถึงอย่างไรก็ตามผู้ที่มีฐานะดีเท่านั้นที่จะนิยมหม้อโลหะเหล่านั้น แต่หม้อดินแบบดั้งเดิมนี้ยังเป็นที่นิยมของคนยากจนอยู่ตลอดไป จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในท้องที่ชนบทห่างไกลความเจริญไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง และยังใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงอยู่
หม้อดิน เป็นภาชนะที่เหมาะกับเตาฟืนอย่างยิ่ง เพราะความเค็มของเขม่าไฟไม่เป็นอันตรายกับหม้อดินเลยแม้แต่น้อย กลับจะทำให้ข้าวสุกในหม้อนั้นมีกลิ่นหอมยิ่งขึ้น เปลวไฟและเขม่าจากเตาฟืนจะแลบเลียตั้งแต่ก้นหม้อไปจนถึงตัวหม้อข้าว ทำให้หม้อซึ่งมีเป็นดินสีแดงเปลี่ยนเป็นสีค่อย ๆ ดำขึ้น แม่ครัวที่รักษาความสะอาด จะใช้ผ้าขี้ริ้วสำหรับเช็ดหม้อ ชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดขัดถูจนข้างหม้อข้าวดินนี้เป็นเงามันสะอาดและสวยงาม หม้อใบหนึ่ง ๆ มีความทนทานใช้หุงข้าวได้หลายปี การใช้หม้อดินต้องเบามือ เพราะถ้ากระทบกับของแข็งแรง ๆ จะแตกง่าย สาเหตุที่ทำให้หม้อแตกได้แก่ การจับถือไม่มั่นคง พลาดหลุดมือก็แตก และการใช้ทัพพีโลหะคดข้าว ถ้าออกแรงมาก ๆ พลาดไปโดนข้างหม้อข้าวแรง ๆ อาจทำให้หม้อแตกได้ทั้งนี้เพราะหม้อดินมีเนื้อบาง เพื่อจะได้ร้อนเร็วเวลาหุงข้าว คนโบราณจึงมักใช้กระจ่าสำหรับคดข้าว เพราะกระจ่าทำด้วยกะลามะพร้าว มีด้ามไม้ น้ำหนักเบากว่า ไม่ทำให้หม้อแตกง่ายนัก